เพราะอะไรหลายๆคนถึงเพิ่งมา แพ้อาหารตอนโต สาเหตุเกิดจากอะไร

food allergy

อาการแพ้อาหาร เป็นหนึ่งในสิ่งที่ลึกลับทางการแพทย์ที่ไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าเป็นเพราะเหตุใดมนุษย์เราถึงแพ้อาหาร ในขณะที่บางคนไม่แพ้อาหารชนิดใด แต่บางคนกลับแพ้อาหารมากมายนับไม่ถ้วน ที่แปลกว่านั้นคือ เมื่อเราใช้ชีวิตไปหลายปีจนเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น วัยทำงาน หรือแม้กระทั่งวัยชรา จู่ๆ อาหารที่เราเคยทานมาตั้งแต่เล็ก ก็ทำให้เราเกิดอาการแพ้ได้

อาการแพ้อาหาร

เป็นอาการที่พบได้เรื่อยๆ ในทุกช่วงของชีวิต และยังพบมากขึ้นเรื่อยๆ ราว 20% ของประชากรทั่วโลกในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา จากรายงานการศึกษาของ The Journal of the American Medical Association (JAMA) ของประชากรสหรัฐอเมริกาจำนวน 40,443 คน ระบุว่า ราว 10.8% ของคนในกลุ่มนี้มีอาการแพ้อาหาร และเกือบครึ่งของคนจำนวนนี้เพิ่งจะมีอาการแพ้อาหารเมื่อย่างเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้ว และ 1 ใน 4 ของกลุ่มนี้ไม่เคยพบอาการแพ้อาหารอะไรเลยตั้งแต่เด็ก

Cathryn Nagler นักวิทยาศาสตร์ และอาจารย์จากมหาวิทยาลัย Chicago กล่าวว่า “จากอัตราการพบผู้ป่วยที่มีอาการแพ้อาหารที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้ สามารถระบุได้ว่า เป็นอาการแพ้อาหารที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากพันธุกรรม เพราะพันธุกรรมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วขนาดนี้

ต้องเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมรอบตัวแน่นอน” โดยเธออธิบายเพิ่มว่า นักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่า การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคแพ้อาหาร อาจเกี่ยวข้องกับการสภาพแวดล้อมรอบตัว เพราะเป็นปัจจัยที่สามารถเปลี่ยนแปลง ไมโครไบโอม ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในร่างกายของเราได้

การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างผิดวิธี และการทานอาหารที่มีกากใยอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในร่างกายของเรา ที่เป็นผู้ต้องสงสัยของอาการแพ้อาหารที่เกิดขึ้นตอนโต

แม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนยาปฏิชีวนะที่ทานไปเรื่อยๆ แต่อย่างไรมันก็ยังนับว่าเป็นยา และยังสามารถพบได้ในอาหารต่างๆ และในน้ำมากกว่าที่เราคิด

นอกจากนี้การทานอาหารที่มีกากใยอาหารต่ำ จนไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีการติดตามวัดผลกันอย่างต่อเนื่องมานานแล้ว โดยเฉพาะในคนที่ชอบทานอาหารฟาสต์ฟูด และอาหารแปรรูปที่มีปริมาณกากใยอาหารน้อยมาก

Ahmad Hamad แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ และนักวิทยาภูมิคุ้มกัน จากมหาวิทยาลัย North Carolina Chapel Hill ระบุว่า ไมโครไบโอต้า (จุลินทรีย์ที่อยู่กับเรามาตั้งแต่เกิด) เป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เกิดอาการเปลี่ยนแปลงของการรับรู้ และการทานทนต่อการแพ้อาหาร เหมือนที่แสดงในงานวิจัยของคุณหมอ Cathryn Nagler

อย่างไรก็ตาม อาการแพ้อาหารไม่ได้เกิดขึ้นจากการทานอาหารชนิดนั้น “มากเกินไป” อย่างที่หลายคนเข้าใจกัน เพราะยังไม่มีรายงานการศึกษาชิ้นใดบ่งบอกถึงสาเหตุนี้ได้

และยังพบว่าในบรรดาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อาหารจำนวนมากมายเหล่านี้ ยังมีกลุ่มหนึ่งที่เข้าข่ายว่าเป็นโรคอุปทานว่าตัวเองเป็นโรค (hypochondria) อีกด้วย เช่น อาการที่เกิดขึ้นหลังจากการทานอาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนใหญ่แล้วอาการแพ้อาหารจะเกิดขึ้นจากการตอบโต้ของระบบภูมิคุ้มกันโรค หรือเชื้อต่างๆ ในตัวเราที่มีต่ออาหารชนิดนั้นๆ แต่ในบางรายเมื่อทานอาหารแล้วมีอาการอื่นๆ

ที่นอกเหนือไปจากการตอบโต้ของร่างกายจากระบบภูมิคุ้มกัน เช่น การแพ้แลคโตสที่มีอยู่ในนม อาการที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือท้องเสียต่างๆ ไม่ได้เป็นอาการที่มาจากการทำงานตอบโต้ของระบบภูมิคุ้นกัน เหมือนกับอาการแพ้ถั่วที่ทานแล้วปากบวม ผื่นขึ้น หายใจไม่ออก

แต่การแพ้แลคโตสเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของร่างกายที่ไม่สามารถย่อยแลคโตสได้มากกว่า (สามารถระบุสาเหตุได้ชัดเจน ไม่เหมือนการแพ้อาหารปกติ)

หลีกเลี่ยงการแพ้อาหารตอนโต

เมื่อการแพ้อาหารในตอนโตไม่ได้เกิดขึ้นจากพันธุกรรม แต่อาจเกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมรอบตัวเรา รวมทั้งอาหารการกิน ดังนั้นการทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ กเป็นวิธีที่จะช่วยให้ร่างกายอยู่ในสภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา

ไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของแบคทีเรียในร่างกายอย่าง ไมโครไบโอม จนทำให้เราจู่ๆ ก็เกิดปฏิกิริยากับอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเข้าในภายหลัง อย่างไรก็ตาม

สาเหตุที่ทำให้ไมโครไบโอมเปลี่ยนแปลงยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด กว่าจะถึงวันนั้น เราควรดูแลสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ และหากมีอาการแพ้อาหารขึ้นมา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษา เพราะในบางกรณีอาการแพ้อาหารสามารถรักษา หรือทำให้ทุเลาลงได้ตามคำแนะนำของแพทย์